เทคนิคหาอาชีพที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับนักศึกษาจบใหม่

เทคนิคหาอาชีพที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับนักศึกษาจบใหม่
เทคนิคหาอาชีพที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับนักศึกษาจบใหม่ 

ในตอนนี้นักศึกษาจบใหม่คงเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลหางานกันจริงจัง สำหรับใครที่ได้งานแล้วเราก็ขอยินดีด้วย แต่ถ้าใครที่ยังไม่ได้งานทำอดใจรอนิดหน่อย ลองนำเคล็ดลับที่กำลังจะเล่าให้ฟังนี้ไปใช่ ไม่แน่ว่าอีกไม่นานข่าวดีอาจมาถึงคุณก็ได้

นักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่สามารถหางานทำได้ หลายคนมีความผิดพลาดคล้าย ๆ กัน คือการหว่านสมัครไปทั่วโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบ หรือทำงานนั้นๆ ได้หรือเปล่า เพียงแค่อ่านประกาศงานว่ารับเด็กจบใหม่หรือคนไม่มีประสบการณ์ก็รีบส่งไปเลย นั่นอาจจะเพิ่มโอกาสให้ HR เห็น Resume ของเราก็จริง แต่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่จะทำให้เราได้อาชีพที่ใช่ในระยะยาว เทคนิคที่จะทำให้เราหาอาชีพที่ใช่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมีดังต่อไปนี้ 


เริ่มต้นจากตัวเอง ทำความรู้จักให้แน่ชัด อะไรคือสิ่งที่เราต้องการ 


ก่อนที่เราจะเริ่มทำการสมัครงานใด ๆ ก็แล้วแต่ กลับมาพิจารณาตนเองให้ชัดเจนเสียก่อนว่า เราเป็นคนอย่างไร มีความถนัดทางด้านไหน แล้วเรามีความชื่นชอบหรือใฝ่ฝันในเรื่องใด แล้วเป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไรล่ะ

เวลาเป็นนักศึกษาเรายังอดทนเรียนวิชาบังคับที่เราไม่ชอบ แค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ถ้าเป็นงานที่ไม่ชอบแล้ว เราต้องอดทนกับมันอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คงจะไม่ดีแน่ถ้าเราต้องตกอยู่ในสภาพแบบนนั้น 

ก่อนที่จะส่งใบสมัครงาน เราควรจะต้องรู้จักตัวเอง และรู้เป้าหมายในการทำงานของตัวเองก่อน ตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า เราอยากทำงานอะไร อยากเป็นคนสำคัญในบริษัทขนาดเล็ก ที่อาจมีความเสี่ยงสูง หรืออยากเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ แต่มั่นคงในบริษัทใหญ่ การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหลายครั้งที่กว่าจะรู้ว่าเลือกเส้นทางผิด ก็เป็นตอนที่แก้ไขได้ยากแล้ว



ไม่เน้นหว่าน แต่ให้ส่งไปแบบแม่นๆ 


ความพลาดอย่างใหญ่หลวงที่ทำให้เรซูเม่ของนักศึกษาจบใหม่ไปกองรวมกันมากมายในถังขยะข้างโต๊ะ HR  การหว่านใบสมัครไปเรื่อยๆ ไม่ดูตาม้าตาเรือ อาจทำให้โอกาสได้งานของนักศึกษาจบใหม่ริบหรี่ เพราะ HR ต้องการคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน การที่ HR เห็นคุณส่งใบสมัครมาทุกตำแหน่งงานที่เปิดรับในบริษัทของเขาอาจทำให้เขาคลางแคลงใจในตัวคุณว่า เป็นคนไม่มีเป้าหมาย ไม่ได้มีทักษะอะไรชัดเจน โลเล และอาจจะทำงานได้ไม่นาน

เราควรจะเลือกส่งเรซูเม่ไปสมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการทำ และเหมาะสมกับความสามารถของเราจริง ๆ เท่านั้น หรือหากเรามีบริษัทที่อยากทำงานด้วย แต่บริษัทนั้นยังไม่เปิดรับตำแหน่งที่เหมาะสมกับเรา เราก็ควรรอให้ตำแหน่งที่เหมาะกับเราว่างลงเสียก่อน อย่าสมัครไปเพียงเพราะแค่อยากทำงานที่นั่น

มันอาจทำให้เราต้องเสียทั้งเวลาและพลังงานในการรอคอย แต่เมื่อถึงขั้นตอนของการสัมภาษณ์งาน มันจะส่งผลดีมากกว่าแน่นอน เพราะงานนั้นเป็นงานที่เราตั้งใจอยากจะทำจริง ๆ อีกอย่างที่สำคัญก็คือ อย่าส่งใบสมัครไปยังหลายบริษัทในอีเมลเดียว เพราะจะทำให้ผู้รับอีเมลเห็นว่าเราส่งอีเมลสมัครงานนี้ไปให้ใครอีกบ้าง



เปิดโอกาสให้ตัวเองด้วยการหางานหลาย ๆ วิธี 


อย่าไปยึดติดกับการหางานแค่วิธีเดียว ยิ่งคุณเห็นมาก คุณก็เลือกสมัครงานได้มากขึ้น เว็บไซต์หางานสมัครงานเป็นทางเลือกที่ดี เพราะคุณจะเห็นงานในตำแหน่งที่คุณต้องการจากหลากหลายบริษัท แต่เว็บไซต์หางานสมัครงานเองก็มีหลายเจ้า บางองค์กรอาจจะเลือกลงประกาศงานเพียงแค่บางเจ้าเท่านั้น ดังนั้นลองใช้เวลาค้นหาในหลาย ๆ ที่

นอกจานี้เราไม่ควรจะยึดติดเพียงแค่ช่องทางนั้นช่องทางเดียว ในบางบริษัทจะโพสต์ประกาศรับสมัครงานไว้บนเว็บไซต์หรือ Social Media ของบริษัทเองด้วย ซึ่งหากเรามีบริษัทที่อยากร่วมงานด้วยอยู่ในใจ การหมั่นเข้าไปดูตำแหน่งงานว่างในช่องทางเหล่านั้นก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราหางานได้

ไม่ใช่แค่ใช้เทคโนโลยีในการช่วยหางานเท่านั้น การหางานผ่านการพูดคุยกับคนรู้จัก งานสัมมนาเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ หรือเข้าไปสอบถามและสมัครที่บริษัทโดยตรงก็เป็นการเปิดโอกาสให้เราเจองานที่หลากหลาย และมีโอกาสในการได้งานมากขึ้นเช่นกัน



จดรายละเอียดตำแหน่งและบริษัทที่ส่งใบสมัครไป ส่งแล้วส่งอีกมันดูไม่ดี 

แน่นอนว่าช่วงที่เราหางานก็คงมีช่วงที่เราส่งใบสมัครกันรัว ๆ ไปหลาย ๆ องค์กร ดังนั้นเราควรจดบันทึกชื่อบริษัท และตำแหน่งที่เราสมัครเอาไว้ด้วย เพื่อไม่ให้สับสน หรือจำตำแหน่งงานกับบริษัทต่าง ๆ สลับกัน และเมื่อมีการติดต่อกลับมาเพื่อเรียกไปสัมภาษณ์ หรือแจ้งเรื่องรับเข้าทำงาน จะได้ไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น

HR เองบางครั้งก็เป็นฝ่ายที่ Active มาตามหาคนไปทำงานเช่นกัน จึงเกิดกระบวนการส่องหาผู้สมัครที่น่าร่วมงานด้วย บางครั้งบริษัทอาจเห็นเรซูเม่ของเราที่โพสต์ไว้บนเว็บไซต์หางาน แล้วคุณสมบัติที่เรามีตรงกับที่เขาต้องการ เขาก็อาจเป็นฝ่ายติดต่อมานัดสัมภาษณ์เราเอง โดยที่เราไม่ได้ส่งใบสมัครไป ในกรณีนี้ เราก็ควรจดชื่อบริษัท ตำแหน่ง รวมถึงชื่อคนติดต่อเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ทำทั้งหมดแล้ว ก็ยังเงียบอยู่ก็อย่าท้อ

การถูกปฏิเสธจากบริษัท ไม่ว่าจะเป็นไม่เรียกไปสัมภาษณ์ หรือเรียกไปสัมภาษณ์งานแล้วแต่เขาไม่รับเราเข้าทำงาน เป็นเรื่องปกติที่คนหางานต้องเจอ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ พิจารณาว่าข้อผิดพลาดของเราคืออะไร เรซูเม่ของเรายังไม่ดึงดูดมากพอ หรือเราทำอะไรพลาดไปในระหว่างการสัมภาษณ์ 

เมื่อพบแล้วก็พัฒนามันให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป หรือบางที อาจไม่ใช่เพราะความสามารถของเรามีไม่พอ แต่อาจเป็นเพราะเราไม่เหมาะกับบริษัท หรือตำแหน่งเหล่านั้นต่างหาก การพลาดจากงานนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพลาดตลอดไป ความสำเร็จจะมาหาคนที่มีความพยายามและไม่ย่อท้อเสมอ

ที่มา:

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม