เคล็ดลับการสร้างสมาธิในการทำงานสำหรับนักศึกษาจบใหม่


เคล็ดลับการสร้างสมาธิในการทำงานสำหรับนักศึกษาจบใหม่



สำหรับนักศึกษาจบใหม่แล้ว การต้องเปลี่ยนสถานะจากนักศึกษาที่มีคาบเรียนวันละไม่กี่ชั่วโมง มาเป็นคนทำงานที่ต้องสมาธิในการทำงานยาวนานตลอดวันนั้นเป็นเรื่องยาก ยิ่งในสมัยนี้มีที่มีสิ่งเร้าล่อใจให้เราสมาธิกระเจิงตลอดเวลา  วันนี้เราก็เลยมี 7 วิธีที่จะช่วยให้มีสมาธิยาวนานขึ้นในการทำงานมาฝาก

จิตใจที่ตั้งมั่นพอจะกำหนดทุกอย่าง

ทุกอย่างอยู่ที่ใจ จิตใจเราต้องตั้งมั่นถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จินตนาการไว้เลยว่าจบวันนี้จะมีอะไรบ้างที่เราทำได้จนเสร็จ แต่อย่าเพียงแค่จินตนาการวางแผนและจัดลำดับขั้นตอนไว้ด้วย เมื่อมีเป้าหมาย และมีแผนการแล้ว ระหว่างวันเราก็จะรู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง จิตใจเราก็จะจดจ่ออยู่กับแต่ละมิชชั่น แต่ละขั้นตอนนั้นได้ไปทั้งวัน


เลิกซะการ Multi-Tasking ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ทำงานทีละอย่าง

หลาย ๆ คนขี้เบื่อ จึงพยายามทำงานหลายอย่างพร้อมกัน การทำแบบนั้นนอกจากจะทำให้เราต้องสลับสมองไปมา จนเกิดอาการเหนื่อยล้าได้ง่ายแล้ว ยังทำให้การทำงานในแต่ละอย่างไม่ต่อเนื่อ สมาธิในแต่ละงานก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก พยายามทำงานทีล่ะอย่าง ให้เสร็จไปทีละเรื่อง ทีละตอน จะทำให้เรามีสมาธิในการทำงานแต่ละชิ้นได้ดีกว่า

อะไรที่เป็นรูทีนพยายามทำในเวลาเดิม 

สำหรับงานประเภทที่ต้องทำเป็นประจำ ให้เตรียมอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการทำงานให้พร้อมก่อนเริ่มงาน จัดตารางเวลาทำงานให้เหมือนเดิมในทุก ๆ วัน ในช่วงแรกให้ตั้งเวลาเตือนในโทรศัพท์มือถือว่าให้เริ่มทำงาน และเมื่องานเสร็จตามกำหนดแล้วจึงให้รางวัลกับตัวเอง เมื่อร่างกายและจิตใจเริ่มเคยชินกับเวลาการทำงานแบบนี้ เราจะต่อต้านและใช้พลังงานกับงานประเภทนี้น้อยลง เก็บแรงและสมาธิไปใช้กับงานยาก ๆ ได้มากขึ้น


ใจดีมันเหนื่อยไป ต้องปฏิเสธงานเสียบ้าง 

การมีน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมงานเป็นเรื่องที่ดี และสำหรับนักศึกษาจบใหม่แล้วการแสดงออกถึงความกระตือรือร้นในการรับทุกความท้าทายก็อาจจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ถ้าเราอยากมีสมาธิในการทำงานแล้ว การปฏิเสธงานเสียบ้างอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องทำ และถ้าเพื่อนร่วมงานของเราเป็นมืออาชีพก็ต้องรู้ว่าไม่ควรรบกวนเราแล้ว ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าสิ่งที่ทำอยู่มันเกินลิมิตและกำลังรบกวนเวลางานของเรา ต้องรีบบอกปฏิเสธทันที


สร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับการทำงาน

ถ้าคุณต้องปฏิเสธงานบ่อย ๆ แล้วล่ะก็ อาจจะต้องพิจารณาวิธีการปฏิเสธงานแบบกรายๆ พยายามจัดโต๊ะทำงานที่จะทำให้แขกไม่ได้รับเชิญเข้าถึงตัวของเราได้ยาก แต่ถ้าวิธีนั้นลำบากเกินไป ลองนำที่อุดหูมาใช้ในที่ทำงานเพื่อแสดงให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าเราต้องการความเป็นส่วนตัว จะใช้หูฟังเปิดเพลงคลอเบา ๆ หรือจะเปิดเสียงประเภท Ambient Sound เพื่อสร้างสมาธิและตัดสิ่งรบกวนก็ได้ กรณีที่มีงานที่ต้องการทำให้เสร็จจริง ๆ การดึงสายโทรศัพท์ออก ปิดโทรศัพท์มือถือ ออกจากโปรแกรมแชทต่าง ๆ หรือสำหรับบางองค์กรที่รูปแบบการทำงานเอื้ออำนวย จะลองปลีกตัวเองออกไปทำงานในที่เงียบ ๆ บ้างก็ได้


อย่าหักโหม คนเราก็ต้องพักบ้าง

การพักผ่อนไม่ได้หมายความว่าเราขี้เกียจเสมอไป นอกจากการนอนหลับอย่างเพียงพอในเวลากลางคืนแล้วการพักระหว่างทำงานก็เป็นเรื่องจำเป็น เมื่อหัวสมองของเราปลอดโปร่ง เราจะทำงานได้อย่างไหลลื่น ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่มีสมาธิและเกิดอาการล้าเนื่องจากทำงานนานเกินไปโดยไม่หยุดพัก การพยายามฝืนทำงานต่อไปจะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพของเราแย่ลงไปอีก เมื่อเริ่มรู้สึกล้าหรือไม่มีสมาธิ การพักประมาณ 5 - 15 นาที ด้วยการออกไปเดินเล่น หรือนั่งพักโดยละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ไปมองอย่างอื่นบ้าง จะช่วยเพิ่มสมาธิในการทำงานได้ดีขึ้น


มีวินัย ฝึกควบคุมตนเอง 

การฝึกให้ตนเองมีสมาธิจดจ่อได้นานขึ้นต้องมีทักษะในการควบคุมตัวเอง และขจัดความวอกแวกต่าง ๆ ที่จะขัดขวางความสำเร็จในระยะยาว การกำหนดลมหายใจ เล่นโยคะ หรือนั่งสมาธิเป็นวิธีที่จะช่วยให้เราฝึกการควบคุมจิต ฝึกสมาธิ วิธีเหล่านี้จะทำให้เราสงบ สามารถจัดลำดับความคิด และกำจัดอารมณ์ที่ขุ่นมัวต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ถ้าจิตใจของเรากระเจิดกระเจิงไปตามห้วงอารมณ์ในขณะนั้น ๆ แล้วพาเราไกลออกจากงานตรงหน้าไป ให้ดึงสติกลับมาอยู่ที่ลมหายใจ ตั้งจิตให้อยู่ ณ ปัจจุบัน แล้วค่อยดึงจิตใจและสมาธิกลับมาที่งานตรงหน้าอีกครั้ง



วิธีสร้างสมาธิเหล่านี้เป็นการกำจัดสิ่งก่อกวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งจากภายนอกและภายในตัวเราเอง นักศึกษาจบใหม่ไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทุกวิธี แต่ลองพิจารณาดูว่าวิธีไหนจะเหมาะกับนิสัย ลักษณะการทำงาน ลักษณะขององค์กร และสิ่งแวดล้อมในการทำงานของแต่ละคนด้วย

ที่มา:

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม